การวางแผนภาษีสำหรับคนทำงานกินเงินเดือน

                ไม่มีอาชีพไหนในประเทศไทยที่จะเสียภาษีหนักเท่ามนุษย์เงินเดือนอีกแล้ว เพราะอาชีพอื่นสามารถหักลดหย่อนได้เป็นสัดส่วนตามรายได้ เช่น วิชาชีพอิสระหักได้ 30% , 60% ไม่มีเพดาน งานรับเหมาหักได้ 70% ไม่มีเพดาน แต่มนุษย์เงินเดือนแม้จะหักลดค่าใช้จ่ายได้ 40% แต่ติดที่มีเพดาน 60,000 บาท ทำให้เหมือนไม่ได้หักค่าใช้จ่ายเลย

                ตัวอย่างเช่น ถ้ามีรายได้ทั้งปี 2 ล้านบาท

  • เงินเดือนเสียภาษีประมาณ 400,000 บาท (ตัวเลขโดยประมาณ)
  • วิชาชีพอิสระ เสียภาษีประมาณ 250,000 บาท (ตัวเลขโดยประมาณ)
  • งานรับเหมา เสียภาษีประมาณ 40,000 บาท (ตัวเลขโดยประมาณ)

                สำหรับบุคคลธรรมดาแล้วถ้าสามารถวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นทางได้ คือวางแผนภาษีตั้งแต่ก่อนรับเงินว่ารายได้นี้เป็นรายได้ประเภทไหน โดยเลือกเงื่อนไขของรายได้ที่เหมาะสมที่สุดกับงานนั้น ๆ และปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างให้เหมาะสม คุณก็จะประหยัดได้มากแล้ว เรื่องการวางแผนด้วยกองทุน ประกันชีวิต ฯลฯ พวกนี้แทบจะลืมไปได้เลย อย่างไรก็ดีหากรายได้นั้นไม่ใช่เงินเดือนต้องระวังเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มว่าหากรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปีต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ดังนั้นต้องระวังในส่วนนี้ไว้ด้วย

                บางคนเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับรายได้เป็นเงินเดือน แม้จะต้องเสียภาษีในอัตราที่เต็ม ๆ แต่อย่างน้อยก็มีเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝาก นอกจากเทคนิคการใช้ประกันเพื่อลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่า การขาย RMF ก่อนอายุ 55 ที่ผมได้เขียนไว้ในหัวข้อ “การวางแผนภาษี” นั้น ยังมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานกินเงินเดือนทั้งหลายได้แก่

 

ค่าชดเชย “เลิกจ้าง” กับ “ลาออกเอง”

                ในชีวิตของคนทำงานอาจมีประสบการณ์การ “เลิกจ้าง” ขององค์กรที่เราทำงานอยู่ เมื่อบริษัทหรือองค์กรมีการปรับปรุงใหญ่ เช่น ปรับโครงสร้าง หรือ เศรษฐกิจไม่ดีจำเป็นต้องปลดคนงานบางส่วนออก หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ถูกเลือกสรรนั้น ให้ระวังว่าการปลดพนักงานนั้นคือ “เลิกจ้าง” มิใช่ “ลาออกเอง” นั่นคือคุณห้ามเซ็นใบลาออกเด็ดขาด เพราะการคำนวณภาษีจะต่างกันมาก เนื่องจากหาก “เลิกจ้าง” เงินก้อนนี้จะถูกหักออกก่อน 300,000 แล้วค่อยคำนวณภาษี แต่หากเป็น “ลาออกเอง” ถึงแม้จะได้เงินชดเชย แต่เงินก้อนนี้เสียภาษีเต็ม

                โดยทั่วไปหากมีการปลดพนักงานทาง HR จะพยายามดันให้เป็น “ลาออกเอง” เพราะกลัวปัญหาการฟ้องร้องของพนักงานเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่หากเกิดสถานการณ์นั้นจริงอาจจะต้องลองดูว่าบริษัทจะชดเชยเงินให้อีกเท่าไหร่ เช่น ถ้า “เลิกจ้าง” ได้ 10 เท่าของเงินเดือน แต่หากยอมเซ็นใบลาออกบริษัทจ่ายให้ 15 เท่าของเงินเดือน แบบนี้ก็ดูน่าสนใจ แต่หากทั้งสองแบบจ่ายชดเชยเท่ากันแล้วให้ดำเนินการ “เลิกจ้าง” จะดีที่สุด

 

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                หลายบริษัทจะมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident Fund ให้พนักงาน ในแง่ของภาษีแล้วเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมืออย่างดีในการประหยัดภาษี เพราะเงินที่ถูกหักเข้ากองทุนทุกเดือนจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ ทำให้เสียภาษีน้อยลงไปในแต่ละปี แต่ปัญหาคือตอนที่คุณจะลาออกจากกองทุน อาจจะด้วยการลาออกจากงานหรือเกษียณอายุก็ตาม ผลประโยชน์จากเงินกองทุนจะต้องคำนวณภาษีด้วย อย่างไรก็ดีเทคนิคการวางแผนภาษีสำหรับเงินกองทุนก็ยังมีหลายประเด็น ได้แก่

  • หากคุณอายุเกิน 55 ปี เงินกองทุนนี้ไม่ต้องเสียภาษี นั่นคือถ้าวันที่ถอนเงินทั้งหมดออกจากกองทุน ก็ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้
  • หากคุณลาออกจากงาน คุณมีสิทธิ์ที่จะคงเงินกองทุนไว้ก่อน ยังไม่ต้องเอาออกมา เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น อายุใกล้ 55 แล้ว รออีก 1-3 ปี ดังนั้นอั้นไว้สักนิดจะไม่ต้องเสียภาษีเลย
  • หากคุณเปลี่ยนงานและที่ใหม่มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณสามารถโอนเงินส่วนนี้ไปที่ใหม่ได้
  • หากคุณอายุงานเกิน 5 ปี ผลประโยชน์ส่วนนี้ได้คำนวณในใบแนบ ภ.ง.ด. การคำนวณภาษีจะทำให้เสียภาษีลดลง

                หากบริษัทหรือองค์กรที่คุณทำงานมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ในวันที่คุณตัดสินใจลาออก อยากให้ศึกษาให้ดีเรื่องภาษีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อจะได้วางแผนให้จ่ายภาษีน้อยที่สุดนั่นเอง

 

ทำงาน 5 ปี “เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเหตุเพราะออกจากงาน” คำนวณในใบแนบ ภ.ง.ด.

                เมื่อคุณลาออกจากองค์กรหรือบริษัทที่ทำงาน คุณอาจจะได้เงินติดกระเป๋ามาก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง เช่น เงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง รวมทั้งการถอนเงินจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมา จริงอยู่เงินได้เหล่านี้ต้องนำมาคำนวณภาษีตอนปลายปี แต่หากคุณทำงานถึง 5 ปีเต็มในบริษัทหรือองค์กร เงินส่วนนี้คุณได้สิทธิ์ที่จะคำนวณในใบแนบ จะทำให้เสียภาษีน้อยลงมาก ดังนั้นหากบริษัทหรือองค์กรของคุณมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากเป็นไปได้ให้ทำให้ครบ 5 ปี เมื่อคุณลาออกมาจะช่วยประหยัดภาษีได้มาก

                สาเหตุที่การคำนวณภาษีในใบแนบ ภ.ง.ด. จะทำให้เสียภาษีน้อยลง เพราะเงินในส่วนนี้จะถูกหาร 2 ก่อนแล้วค่อยคำนวณภาษี (จริง ๆ มีการลดหย่อนมากกว่านั้นเล็กน้อย แต่ไม่ค่อยเป็นประเด็นเท่าไหร่) นั่นคือถ้าเป็นไปได้ให้พยายามคำนวณภาษีในใบแนบให้ได้

                มีอยู่กรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คือหากการออกมาจากบริษัทของคุณมีทั้งเงินชดเชยและเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปัญหาคือ “เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเหตุเพราะออกจากงาน” จะประกอบด้วยเงิน 2 ก้อน อาจทำให้มูลค่าภาษีกระโดดขึ้นมาต้องเสียในอัตราที่สูงมีวิธีแก้ไขคือ พยายามแยกให้เงินทั้งสองส่วนอย่าอยู่ภายในปีภาษีเดียวกัน โดยเอาเงินชดเชยออกมาก่อน ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคุณอาจจะฝากไว้ก่อน โดยดูว่าในปีไหนที่ไม่มีรายได้ค่อยเอาออกมาก็ได้หรืออาจฝากไว้จนอายุ 55 ปีค่อยเอาออกมาก็ได้

                มีอีกประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันคือหากคุณเอาเงินชดเชยออกมาพร้อมกับการ “เลิกจ้าง” และในปีถัดไปหรือ 2-3 ปีถัดไปค่อยเอาเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมา คุณมีสิทธิ์คำนวณภาษีในใบแนบ ภ.ง.ด. หรือไม่สำหรับเงินกองทุนนี้ เคยมีข้อหารือว่าการนำเงินกองทุนออกมาคนละปีกับการลาออกจากงานจะไม่มีสิทธิ์คำนวณในใบแนบ แต่หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำปี 2540 ได้มีกฎหมายว่าเงินกองทุนนี้จะต้องได้รับการดูแลโดยสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก กลต. ได้มีคนนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาและถูกสรรพากรตามเก็บภาษี แต่ได้เกิดกรณีพิพาทขึ้นถึงศาลฎีกาโดยศาลพิจารณาว่าการลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นการลาออกจากสถาบันการเงินที่ดูแลกองทุน ไม่เกี่ยวกับการลาออกจากงาน ดังนั้นหากเป็นสมาชิกกองทุนมาเกิน 5 ปี (ไม่เกี่ยวกับอายุงาน) ก็มีสิทธิ์คำนวณภาษีในใบแนบ ภ.ง.ด. ได้เลย เพราะจะทำให้เสียภาษีน้อยลงมาก

 

ภาษีหัก ณ.ที่จ่าย

                ในแต่ละครั้งที่คุณรับเงินเดือน เงินที่ได้รับหรือโอนเข้าบัญชีจะได้ไม่เต็มเพราะจะมีการหักเงินได้แก่ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) เงินประกันสังคม และภาษีหัก ณ.ที่จ่าย ซึ่งตัวภาษีหัก ณ.ที่จ่ายนี้ทางฝ่ายบัญชีหรือฝ่ายบุคคลจะเป็นผู้ประเมินว่าคุณจะมีภาษีต้องเสียในปีนี้เท่าไหร่ จากนั้นจะเฉลี่ยออกมาในแต่ละเดือนแล้วทำการหักเงินส่วนนี้ส่งสรรพากร

                ผมมีข้อแนะนำคือให้ระวัง บัญชีบางคนมีนิสัยชอบทำอะไรเอาใจสรรพากร เขาจะพยายามนำส่งภาษีให้สูง ๆ ไว้เพื่อเอาใจสรรพากร บางคนอ้างว่าถ้าส่งน้อยจะถูกสรรพากรตำหนิ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ผมขอให้คุณต่อรองกับฝ่ายบัญชีให้หนัก ๆ ว่าคุณมีค่าลดหย่อนเต็มไปหมด มีประกัน 100,000 บาท ดอกเบี้ย 200,000 บาท กองทุนเต็มที่ ฯลฯ เพื่อให้คำนวณแล้วเสียภาษีน้อยที่สุด พอปลายปีคุณค่อยไปเสียภาษีเพิ่มเองหากจำเป็น

                ที่ผมแนะนำเช่นนี้เพราะในการขอคืนภาษีส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งที่ต้องเจอเทคนิคการซื้อเวลาของสรรพากรจนหลายคนถอดใจว่าไม่เอาคืนก็ได้ ถือว่าให้ขอทานที่กำลังหิวไป ผมเคยมีประสบการณ์สมัยทำงานประจำอยู่ที่หนึ่ง บัญชีจะหักสูง ๆ แต่ผมไม่ยอม บัญชีบอกว่าไม่เป็นไรถึงหักสูงปลายปีก็ไปเอาคืนได้ ผมเถียงไปว่า “ถ้าอย่างนั้นคุณเอาเงินคุณมาให้ผมยืมสิครับ เท่ากับที่คุณหักเกินนี่แหละ ปลายปีเอาเงินภาษีคืนได้ผมจะเอามาคืนคุณ” สุดท้ายบัญชียอมคำนวณใหม่หักน้อยลง

                ภาษีเงินเดือนคำนวณแบบอัตราก้าวหน้า ไม่เหมือนรายได้ประเภทอื่นที่หักด้วยอัตราคงที่ ดังนั้นการคำนวณอาจคลาดเคลื่อนได้ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองโดยการให้หักภาษีน้อยที่สุด เพราะหากเอาคืนไม่ได้จะได้เสียหายน้อยที่สุดนั่นเอง

Leave a Reply