ข้อผิดพลาดเมื่อเผชิญหน้ากับสรรพากร
จากที่ได้ให้คำปรึกษากับหลายกรณีที่เคยพบปัญหากับสรรพากร หลายครั้งที่ต้องเสียภาษีไปอย่างน่าเสียดายทั้งที่ความจริงได้วางแผนภาษีอย่างดี พอจะสรุปปัญหาคร่าว ๆ ได้ 4 เหตุผลที่เราต้องแพ้ให้กับสรรพากรดังนี้
- กลัวสรรพากรมากเกินไป
- ใช้คนที่ไม่เหมาะสมไปเจรจากับสรรพากร
- ไว้ใจสรรพากรมากเกินไป
- เพิกเฉยกับเอกสารจากสรรพากร
กลัวสรรพากรมากเกินไป
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะกลัวสรรพากร ยิ่งถ้าเราไม่เคยมีประสบการณ์อีกทั้งเคยได้ยินเรื่องเล่ากิตติศัพท์ความโหดของสรรพากรมาก่อนด้วยแล้ว ถ้าใจไม่แข็งพอคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกลัว แต่ในสถานการณ์เผชิญหน้าไม่ว่ากับปัญหาใด ๆ หากเรากลัวคู่แข่งหรือคู่ต่อสู้ นั่นหมายความว่าเราแพ้ตั้งแต่ยังไม่แข่งแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้วัดกันด้วยใจเพราะหากใจเราไม่กลัวแล้ว สรรพากรจะทำอะไรเราไม่ได้เลย
กรณีที่มักจะเห็นกันบ่อย ๆ ก็คือคนขายสินค้าออนไลน์และสรรพากรขอรายการเดินบัญชี จริง ๆ แล้วคุณมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะไม่ส่งมอบเอกสารสำคัญนี้ให้ไป แต่ในสถานการณ์จริงคุณจะต้องเผชิญกับคำขู่ต่าง ๆ นา ๆ จนยอมส่งเอกสารให้ไป เรื่องนี้วัดกันด้วยใจครับ ถ้าใจคุณหนักแน่นไม่กลัว สรรพากรก็ทำอะไรไม่ได้ และหากคุณไม่ให้รายการเดินบัญชีไป สรรพากรก็จะทำอะไรไม่ได้เลย
มีกรณีหนึ่งที่เคยโทรมาปรึกษาผมเรื่องการขายสินค้าออนไลน์ เจอปัญหาสรรพากรขอดูรายการเดินบัญชี ตอนแรกก็กลัวมากเกือบให้ไปแล้ว ดีที่ได้คุยกันก่อนผมบอกว่าอย่าให้ เพราะเขาขู่เฉย ๆ ถ้าไม่ให้เขาก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายแค่ไม่กลัวเขาก็ชนะเลย ผมเคยเล่าให้ฟังในกรณี สู้กับสรรพากรอยู่ที่ใจ
อย่างไรก็ดีหากไม่มั่นใจและต้องไปพบสรรพากร ควรมอบอำนาจให้คนที่ไว้ใจได้และสามารถต่อกรกับสรรพากรได้ไปพบแทน แต่ต้องเลือกคนที่เหมาะสมจริง ๆ นะครับ เพราะถ้าพลาดขึ้นมาล่ะก็เสียหายยิ่งกว่าอีก
ใช้คนที่ไม่เหมาะสมไปเจรจากับสรรพากร
การจะเลือกให้ใครไปพบสรรพากรแทนคุณนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเลือกผิดนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังทำให้เสียหายเพิ่มขึ้นอีก และส่วนใหญ่ก็จะเลือกผิดเสียด้วย
โดยทั่วไปคนที่จะส่งไปพบสรรพากรคนแรกที่เรานึกถึงก็คือนักบัญชี แต่จากประสบการณ์ของผมแล้ว นักบัญชีไม่ใช่ผู้ที่เหมาะสมจะไปเผชิญหน้ากับสรรพากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานบัญชี เพราะสำนักงานบัญชีต้องดูแลหลายบริษัท จึงไม่คุ้มที่เขาจะไปมีปัญหากับสรรพากร หากคุณมีปัญหาอยู่รายเดียว เขาเลือกที่จะเอาใจสรรพากรมากกว่าเอาใจคุณ การเผชิญหน้ากับสรรพากรนั้น ความสามารถเรื่องบัญชี กฎหมาย ไม่มีประโยชน์อะไรเลยในการเจรจา แต่สิ่งที่สำคัญคือความสามารถในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่
ผมมีเทคนิคเล็กน้อยในการพิจารณาส่งคนไปเจรจากับเจ้าหน้าที่สรรพากร คุณสมบัติคนนั้นไม่จำเป็นต้องรู้บัญชี ไม่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับกิจการของเรา แต่สำคัญคือต้องมีไหวพริบพลิกแพลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ ไม่มีกฎระเบียบว่าผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ดังนั้นเทคนิคง่าย ๆ เวลาเจรจากับสรรพากรคือ ถ้าคุยเรื่องบัญชีบอก “ไม่รู้ ต้องกลับไปถามฝ่ายบัญชี” คุยเรื่องกิจการของคุณบอก “ไม่รู้ ต้องกลับไปถามเจ้าของกิจการ” แค่นี้สรรพากรก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว จากนั้นตั้งเป้าหมายในการเจรจา คือให้สรรพากรถามคำถามมาเป็นลายลักษณ์อักษร คือออกเป็นหนังสือราชการมาเลยว่าต้องการถามอะไรบ้างแล้วตัวแทนคนนี้จะเอาคำถามเหล่านี้กลับไปถามผู้ที่จะตอบได้ ถ้าสรรพากรปฏิเสธที่จะออกเอกสารให้เราจดเอาเอง ให้คุณนำกล้องวีดีโอขึ้นมาบันทึก บอกให้สรรพากรถามเข้าไปในวีดีโอนี้ ถ้าสรรพากรถามก็เอาคลิปนี้กลับมาแล้วค่อยแก้ปัญหากันอีกที แต่อย่างน้อยการไม่ตอบคำถามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ก็ทำให้สรรพากรไม่สามารถไล่เราจนมุมได้แล้ว แต่หากสรรพากรไม่กล้าถามลงในคลิปก็ถือว่าไม่มีคำถาม จบการสนทนา
จุดอ่อนอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่สรรพากรคือ เวลาพูดจะเก่ง แต่หากต้องทำอะไรที่มีหลักฐาน เช่น การออกหนังสืออย่างเป็นทางการ การถ่ายคลิปการเจรจา พวกนี้จะไม่กล้าทำอะไรมาก กิริยาการข่มขู่จะลดลงหรือไม่มีเลย เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นหลักฐานเล่นงานเจ้าหน้าที่กลับได้หากทำอะไรผิดพลาด ดังนั้นการที่คุณพยายามบันทึกหลักฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากและหยุดก่อกวนคุณเอง
เรื่องกล้องวีดีโอเป็นอาวุธอย่างนี้ในการต่อสู้กับสรรพากร เพราะคลิปเสียงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางศาลได้ แต่คลิปวีดีโอใช้ได้ ดังนั้นติดตัวไว้ทุกครั้งที่ไปเจอสรรพากรและงัดเอาออกมาใช้เมื่อต้องการ คุณจะสยบสรรพากรได้
ผมเคยเจอกรณีส่งคนผิดไปพบสรรพากรและกลายเป็นปัญหาขึ้นมา กรณีแรกคือกรณีนี้ “สู้กับสรรพากรอยู่ที่ใจ” ส่งนักบัญชีไปเจอสรรพากร ปรากฎว่านักบัญชีรู้แต่บัญชีแต่ไม่รู้จักวิธีการเจรจา เผลอไปบอกหมดว่ารายได้เท่าไหร่ สรรพากรตาวาวและพยายามรีดให้ได้ แต่ภายหลังเมื่อใจสู้แล้วสรรพากรก็ทำอะไรไม่ได้
อีกกรณีหนึ่งที่เคยเจอคือบริษัทหนึ่งมีภาษีหัก ณ.ที่จ่ายที่ถูกลูกค้าหักไว้อยู่มาก เลยไปขอคืนภาษีโดยที่สำนักงานบัญชีแนะนำว่าอย่าขอคืน สรรพากรเรียกคุยก็ส่งนักบัญชีเข้าไปคุย นักบัญชีกลับมาบอกต้องจ่ายเพิ่มอีก จริง ๆ เรื่องนี้ควรตำหนิสำนักงานบัญชีว่าทำบัญชีประสาอะไรทำไมต้องจ่าย แต่เนื่องจากไม่รู้บัญชีเลยยอม ๆ กันไป
ไว้ใจสรรพากรมากเกินไป
คนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเจอกับสรรพากรมักมองว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรคือมืออาชีพ สามารถไว้ใจได้ในความซื่อสัตย์และรับผิดชอบ แต่ผิดถนัดเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไว้ใจไม่ได้ครับ ส่วนใหญ่ความผิดพลาดมักจะเกิดในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ขอเอกสาร โดยเฉพาะเอกสารตัวจริง ด้วยความกลัวบวกความไว้ใจสรรพากรจึงส่งมอบเอกสารให้โดยที่ไม่มีการเซ็นรับเอกสารเป็นหลักฐานอย่างชัดเจน บ่อยครั้งที่สรรพากรทำเอกสารหาย และในปีต่อ ๆ มาหากเจ้าหน้าที่ชุดใหม่มาขอตรวจเอกสาร จะมีปัญหาว่าไม่มีเอกสารให้ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสาร “ภาษีซื้อ” ปรากฏว่าถูกปรับย้อนหลังอาน ทั้งปรับ VAT ย้อนหลังว่าเคลมภาษีซื้อโดยที่ไม่มีเอกสารแสดง ทั้งถูกยกเลิกค่าใช้จ่ายนี้ทำให้กำไรสูงขึ้นและต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น
วิธีการแก้ไขกรณีเช่นนี้ก็คือ อย่าไว้ใจสรรพากรตั้งแต่ต้น เมื่อสรรพากรขอเอกสารให้ส่งมอบและมีการเซ็นรับอย่างชัดเจนว่ารับเอกสารอะไรไปบ้าง พร้อมระบุว่าในใบเซ็นรับว่าหากเกิดการสูญหาย เสียหาย หรือรั่วไหลของข้อมูล เจ้าหน้าที่จะรับผิดชอบอย่างไม่มีข้อจำกัด หากเจ้าหน้าที่ไม่กล้าเซ็นเอกสาร ให้คุณนั่งเฝ้า (หรือถ้าไปหลายคนก็ผลัดกันเฝ้า) การทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่ตรงนี้จนกว่าเขาจะตรวจเอกสารคุณเสร็จ รับรองว่าคุ้มค่า เจ้าหน้าที่บางคนหัวหมอ เวลาเซ็นรับเอกสารจะระบุว่ารับเอกสารมา 1 แฟ้ม หรือ 1 กล่อง อย่ายอมนะครับ เพราะส่งไปเอกสารเต็มกล่อง กลับมาเหลือนิดเดียว แต่หากมีการระบุเอกสารที่ส่งมอบไปอย่างชัดเจน และหากเอกสารสูญหาย นั่นคือโอกาสของคุณแล้ว ให้มองว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตและคุณมีหลักฐานการทุจริตของเจ้าหน้าที่อยู่ในมือ เอาไว้ต่อรองหากเกิดปัญหาอะไรขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งก็คืออย่าเชื่อคำพูดของสรรพากรโดยไม่ไตร่รอง หลายครั้งสรรพากรจงใจแนะนำให้เกิดความเสียหายกับเราก็มี แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะหากเราไม่มีความรู้ก็จะเป็นเบี้ยล่างของสรรพากร บางครั้งเจ้าหน้าที่บอกว่าจะช่วยเหลือเราให้รีบเซ็นเอกสารตอนนี้เลย แบบนี้ต้องระวัง ทางที่ดีควรจะให้คนที่รู้ทันสรรพากรเข้าไปเจรจาแทนจะเหมาะสมกว่า
หลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสคุยกับคนที่ถูกสรรพากรรีดภาษีเขาบอกว่าสรรพากรช่วยเหลือแล้ว จริง ๆ ต้องเสียหลายแสนแต่สรรพากรบอกว่าสี่หมื่นก็พอ แต่พอผมดูรายละเอียดจริง ๆ แล้วไม่ต้องเสียเลย แบบนี้กลายเป็นไปเชื่อใจสรรพากรมากเกินไป เสียเงินเปล่าแล้วยังกลายเป็นหนี้บุญคุณเขาอีก
เพิกเฉยกับเอกสารสรรพากร
หากมีเอกสารจากสรรพากรมาถึงเรา ขอให้คุณตรวจสอบก่อนว่าเอกสารนั้นคืออะไร อย่าเพิกเฉยกับเอกสารนั้น ผมเคยเจอกรณีหนึ่งสรรพากรแนะนำให้เพิกเฉยกับเอกสารต่าง ๆ ที่ส่งมา (ปัญหาคือสรรพากรหลอกนั่นเอง แต่เพราะความไว้ใจเลยยอมทำตาม) ปรากฏว่าเอกสารเหล่านั้นคือเอกสารประเมินภาษี ระบุว่าต้องจ่ายภาษีจำนวนสูงมาก การเพิกเฉยเท่ากับเรายอมรับในการประเมินนั้น เมื่อเรายอมรับจึงเข้าสู่ฝ่ายกฎหมายเพื่อดำเนินการเร่งรัดภาษี ตอนแรกฝ่ายกฎหมายกำลังจะส่งฟ้องศาล โชคดีที่แก้ไขได้ทันและส่งปัญหากลับไปให้เจ้าหน้าที่เจ้าเล่ห์คนนี้แทน
สุดท้ายนี้หวังว่าตัวอย่างข้อผิดพลาดเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหากับสรรพากรได้ระวังหรือแก้ไขในสถานการณ์จริงได้นะครับ แต่หากต้องการปรึกษาปัญหาสามารถติดต่อมาได้ตามอีเมลที่ให้ไว้ในเว็บไซต์นี้ได้นะครับ