มนุษย์เงินเดือนก็ต้องวางแผนภาษี

             เป็นที่รู้กันว่าไม่มีอาชีพไหนอีกแล้วที่จะเสียภาษีสูงเท่าการทำงานกินเงินเดือน การวางแผนภาษีของมนุษย์เงินเดือนอาจทำได้แค่ซื้อประกันชีวิต ซื้อกองทุน เลี้ยงดูบุพการี การจดทะเบียนสมรส ฯลฯ ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วหากเป็นการรับเงินเดือนตามปรกติก็คงเป็นอย่างนั้น แต่หากเป็นเหตุการณ์พิเศษ เช่น การลาออกจากงาน หากมีศึกษาเรื่องภาษีและวางแผนล่วงหน้า จะทำให้คุณประหยัดเงินในส่วนนี้ได้มาก

                ผมมีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องของเพื่อนผม แน่นอนคงไม่ใช่การวางแผนภาษีแบบธรรมดาเช่นการซื้อประกัน กองทุน ฯลฯ เพื่อนคนนี้ทำงานในบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่แห่งหนึ่งมา 7 ปี เงินเดือน 6 หลัก บริษัทมีสวัสดิการเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ด้วย วันหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์คือบริษัทที่เพื่อนผมทำงานนี้ถูกซื้อกิจการโดยบริษัทที่ใหญ่กว่า และบริษัทที่ถูกซื้อที่เพื่อนผมทำงานอยู่นี้ต้องมีหน้าที่ที่จะเคลียร์พนักงานที่มีอยู่ออกให้หมด ภายใต้กฎหมายแรงงานของประเทศนั้น ๆ ที่บริษัทนี้เปิดสาขาอยู่

                กรณีอย่างนี้บริษัทมีงบก้อนใหญ่ให้จ่ายชดเชยในกรณีที่ต้องปลดพนักงาน ผมได้แนะนำเพื่อนว่าให้บริษัทดำเนินการ “เลิกจ้าง” ห้าม “จ้างออก” หรือ “สมัครใจออก” เด็ดขาด เพราะการคำนวณภาษีต่างกัน แต่ฝ่ายบุคคลส่วนใหญ่จะให้เป็น “ลาออก” เพราะป้องกันพนักงานมาฟ้องร้องว่า “เลิกจ้างไม่เป็นธรรม” เป็นตามคาดครับ เพราะจู่ ๆ ฝ่ายบุคคลก็เรียกเพื่อนผมเข้าไปคุยพร้อมยื่นข้อเสนอว่าให้เซ็นใบลาออกแลกกับเงินชดเชยซึ่งบริษัทจะจ่ายให้ตามกฎหมายแรงงาน แต่เพราะรู้จุดประสงค์ของฝ่ายบุคคลอยู่แล้วเพื่อนผมจึงปฏิเสธที่จะเซ็นใบลาออกนี้ จริง ๆ เราก็ไม่คิดจะเอาเปรียบบริษัทหรือคิดจะฟ้องร้องหรอกครับ เพียงแต่ต้องการลดภาระภาษีของเราแค่นี้เอง แต่ลักษณะของฝ่ายบุคคลทั่วไปที่กลัวจะมีปัญหาภายหลังจึงยอมเสียสละผลประโยชน์ของพนักงานในส่วนนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์บริษัทไว้ก่อน

                ต่อมาคือเรื่องของ “เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งมีอยู่ประมาณเกือบ 2 ล้านบาท และต้องเสียภาษีที่ฐานประมาณ 1.2 ล้านบาท ในกรณีนี้ทำงานอยู่ที่นี่เกิน 5 ปี มีสิทธิ์ใช้ใบแนบ ภ.ง.ด. ในการคำนวณภาษีจะทำให้เสียภาษีน้อยลง แต่กรณีค่าชดเชยจะมารวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จะทำให้ฐานภาษีกระโดด ผมแนะนำเพื่อนให้แยกเงินกองทุนกับเงินชดเชยให้อยู่คนละปี โดยรับเงินชดเชยมาก่อน ส่วนเงินกองทุนให้ฝากไว้พอข้ามปีค่อยเอาออกมาเพื่อจะได้เริ่มคำนวณฐานภาษีใหม่ แต่เนื่องจากบริษัทเก่ากำลังจะปิดไป เงินกองทุนที่ฝากไว้ที่สถาบันการเงินก็อาจต้องสูญไปด้วย ปัญหาคือจะทำอย่างไรเพราะไม่สามารถฝากเงินกองทุนได้

                ช่วงกลางปีก็เหมือนแจ็คพ็อตแตก คือหลังจากฝ่ายบุคคลได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พนักงานเซ็นใบลาออกแล้ว บางคนก็เซ็น แต่คนที่รู้เรื่องก็ไม่ยอมเซ็น สุดท้ายบริษัทจึงดำเนินการสำหรับพนักงานที่ไม่ยอมเซ็นใบลาออกโดยดำเนินการ “เลิกจ้าง” พนักงานกลุ่มนี้ และบริษัทใหม่ที่มาซื้อกิจการก็รับพนักงานเหล่านี้เข้าเป็นพนักงานใหม่ เพื่อป้องกันพนักงานไปฟ้องร้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงเป็นโอกาสดีที่เพื่อนผมจะได้โอนเงินกองทุนจากที่เก่าเข้ามาฝากไว้ในกองทุนของบริษัทใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินกองทุนนี้ และวางแผนว่าข้ามปีค่อยเอาเงินกองทุนนี้ออกมา

                ต่อมาได้เกิดปัญหาคือเพื่อต้องใช้เงินกระทันหันเนื่องจากวางแผนจะแต่งงานช่วงปลายปี จึงต้องนำเงินกองทุนนี้ออกมาใช้จ่าย เพื่อนผมได้เงินชดเชยมาประมาณ 1 ล้าน หากรวมกับเงินชดเชยซึ่งต้องเสียภาษีที่ฐาน 1.2 ล้าน ฐานภาษีน่าจะกระโดดไปที่ 30% นั่นคือเสียภาษีเพิ่มประมาณ 3-4 แสนบาท ผมคิดหาทางช่วยเพื่อนว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดจึงแนะนำให้เพื่อนเข้าไปคุยกับสถาบันการเงินที่ดูแลเงินกองทุนนี้อยู่ ขอกู้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ เสียดอกเบี้ย 3% ต่อปี เพื่อนผมแต่งงานช่วงปลายปี วางแผนว่าเดือน ม.ค. ในปีต่อไปค่อยเอาเงินออกมา นั่นคือทำการกู้เงินแค่ 2 เดือน ดังนั้นเสียดอกเบี้ยประมาณ 0.5%

                สรุปคือเพื่อนไม่ต้องถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาแต่ใช้วิธีกู้แทน เสียดอกเบี้ยแค่ 5,000 บาท ไม่ต้องไปเสียภาษี 3-4 แสนบาท และในปีถัดไปค่อยเอาเงินกองทุนนี้ออกมาทำให้เริ่มคำนวณฐานภาษีใหม่ที่ 0% สามารถประหยัดภาษีได้มโหฬาร

                จะเห็นได้ว่าแม้มนุษย์เงินเดือนจะวางแผนภาษีได้ไม่มาก แต่ในกรณีพิเศษ เช่น ลาออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีกรณีการปลดพนักงานและจ่ายค่าชดเชยแล้ว หากเราได้ศึกษาและวางแผนภาษีอย่างดีจะทำให้เราสามารถประหยัดภาษีได้มาก เพราะส่วนใหญ่มนุษย์เงินเดือนจะไม่ค่อยรู้เรื่องภาษี เขาให้เซ็นอะไรก็เซ็น เขาให้เงินก็รับออกมาตรง ๆ จะทำให้ตกเป็นเหยื่อของสรรพากรได้ง่าย แต่หากเราได้ศึกษากฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับเราและวางแผนอย่างดีแล้ว จะทำให้เราสามารถรักษาผลประโยชน์ของเราได้อย่างดี

Leave a Reply