ใช้งานสรรพากรกลับ

                กรณีนี้เป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่โทรมาปรึกษาปัญหาเรื่องภาษีกับผม แต่ที่ผมดูแล้วไม่ใช่ปัญหาภาษีอากร แต่เป็นปัญหาเจ้าหน้าที่สรรพากรเสียมากกว่า ตอนแรกเขาไม่กล้าให้ข้อมูลกับผมมากเพราะไม่รู้ว่าผมเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรหลอกถามข้อมูลหรือเปล่า แต่หลังจากได้คุยกันแล้วก็เลยให้ข้อมูลมาหมด

                เริ่มจากบริษัท A เป็นบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง และบริษัท B ต้องการผลิตภัณฑ์ชนิดนี้พอดี ผู้เสียหายคนนี้เห็นเป็นโอกาสที่จะทำรายได้ในส่วนนี้จึงไปเสนอบริษัท A ว่าจะขายผลิตภัณฑ์ให้มูลค่า 2 ล้านบาทโดยได้ค่าคอมมิชชั่นมูลค่า 50,000 บาท เรื่องนี้ดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไร การค้าก็เกิดขึ้น บริษัท A ขายผลิตภัณฑ์ให้บริษัท B ตามรายการดังกล่าวและบริษัท A จ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับผู้เสียหาย 50,000 บาท โดยหัก ณ.ที่จ่ายตามปรกติ แต่ปัญหาคือในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ.ที่จ่ายระบุว่า ค่าคอมมิชชั่น 50,000 บาท จากยอดขาย 2 ล้านบาท

                เมื่อผู้เสียหายคนนี้ไปยื่นภาษีสรรพากรขอดูหลักฐานการหักภาษี ปัญหาก็เกิดขึ้นครับเพราะสรรพากรบอกว่าในรายการดังกล่าวมีการระบุว่ามียอดขาย 2 ล้านบาท ดังนั้นผู้เสียภาษีจะต้องรับรู้รายได้ 2 ล้านบาท ไม่ใช่ 50,000 บาทอย่างที่ยื่น ภ.ง.ด. นั่นคือจะต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดภาษีจากยอดขาย 2 ล้านบาท

                ผู้เสียหายท่านนี้พยายามอธิบายให้สรรพากรฟัง เจ้าหน้าที่ก็พยายามจะไม่ฟังและยืนยันว่าต้องรับรู้รายได้ 2 ล้านบาท จนสุดท้ายสรรพากรก็ใช้อุบายเงื่อนไขว่าให้ผู้เสียหายไปเอาหลักฐานการซื้อขายว่าการซื้อขายในครั้งนี้เป็นการซื้อขายระหว่างบริษัท A และ B ซึ่งผู้เสียหายเป็นแค่ผู้รับค่านายหน้าเท่านั้น โดยระบุว่าต้องส่งให้ภายในวันที่… ผู้เสียหายได้โทรติดต่อไปที่บริษัททั้งสอง ทั้งคู่ตอบเหมือนกันหมดว่าเป็นรายการการค้าระหว่างสองบริษัท ผู้เสียหายเป็นบุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้นบริษัทขอปฏิเสธที่จะให้เอกสารเหล่านี้กับผู้เสียหาย และในส่วนค่าคอมที่ตกลงกันไว้ก็จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว จึงถือว่าบริษัทได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว

                จากกรณีดังกล่าวบริษัททั้งสองมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการส่งมอบเอกสารพวกอินวอยซ์ ใบเสร็จรับเงินกับผู้เสียหายซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าของทั้งสองบริษัท ผู้เสียหายได้ปรึกษากับผมว่าจะทำอย่างไร ผมจึงแนะนำไปว่าให้ทำหนังสือชี้แจงไปที่สรรพากรว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารการค้าระหว่างบริษัท A และบริษัท B ซึ่งเราเป็นบุคคลภายนอกไม่สามารถไปขอเอกสารดังกล่าวมาได้ ขอให้เจ้าหน้าที่สรรพากรซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกิจทั้งสอง ใช้อำนาจของตนที่มีอยู่ไปขอเอกสารดังกล่าวจากบริษัทคู่สัญญาทั้งสอง จากนั้นให้ติดต่อมายังตัวผู้เสียหายภายในวันที่ … (ให้เวลาประมาณ 2 เดือน) หรือหากไม่สามารถขอเอกสารดังกล่าวได้ขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังข้าพเจ้าภายในวันและเวลาดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่เซ็นรับจดหมายฉบับนี้และเราเก็บไว้เป็นหลักฐาน

                เรื่องนี้ตอนหลังก็เงียบไปครับ คิดว่าน่าจะจบเรื่องได้ด้วยดี จากกรณีดังกล่าวปัญหาคือสรรพากรแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่ตัวเองเข้าใจ และแกล้งให้ผู้เสียหายท่านนี้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือขอเอกสารจากบริษัททั้งสอง วิธีแก้ปัญหาคือขอให้เรามองว่าสรรพากรไม่ใช่เจ้านายของเรา แต่สรรพากรคือผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา เราสั่งงานเขากลับว่าให้เขาไปขอเอกสารออกมาให้เราเอง และหากทำไม่ได้ให้ชี้แจงเป็นหนังสือราชการ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะการออกหนังสือราชการไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และหากถ้อยคำในเอกสารผิดเพียงนิดเดียวก็อาจกลายเป็นสิ่งที่เล่นงานเจ้าหน้าที่กลับ

                ส่วนที่ต้องระบุวันที่ว่าต้องทำแล้วเสร็จเมื่อไหร่นั้น เพราะผมคิดว่าสุดท้ายเรื่องจะเงียบหายไป อย่างน้อยการที่เราระบุวันที่ลงไป เพราะเมื่อถึงวันนั้นแล้วเรื่องเงียบจะได้ถือว่าจบเรื่อง เพราะการที่เจ้าหน้าที่ไม่ตอบเรากลับมา ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่จะนำเรื่องนี้กลับมาระรานเราอีกครั้งเราจะได้มีข้ออ้างว่านัดกันแล้วว่าถ้าทำไม่ได้ให้ชี้แจงเราภายในวันที่… แต่นี้เลยมาตั้งนานขอให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงเราก่อนว่าเหตุใดจึงบกพร่องต่อหน้าที่ นั่นคือถ้ากลับมาหาเราอีกก็จะกลายเป็นคนผิดไป

                จากกรณีดังกล่าวการรับมือกับสรรพากรนั้นสำคัญคือศิลปะในการเจรจาต่อรอง ศิลปะในการหาช่อทางเล่นงานเจ้าหน้าที่กลับ เรื่องนี้คงเป็นศิลปะการแก้ปัญหาของแต่ละคน

Leave a Reply