เทคนิคการลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต

ปัจจุบันรัฐบาลอนุญาตให้ใช้ประกันชีวิตในการลดหย่อนภาษีได้หนึ่งแสนบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีภาระภาษีที่สูง แต่ข้อเสียของการซื้อประกันชีวิต โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ มีข้อเสียได้แก่

1.) เงินที่จมกับประกันชีวิต ทำให้สภาพคล่องเสียไป

2.) ประกันชีวิตระยะยาว กลายเป็นภาระที่ต้องส่งเบี้ยทุกปี

ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว อีกทั้งได้ผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต ผู้เสียภาษีที่คิดจะใช้ประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี จึงควรเลือกแบบประกันที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เงินจมนานเกินไป และไม่เป็นภาระในระยะยาว โดยแบบประกันชีวิตที่เหมาะสมกับการลดหย่อนภาษีได้แก่

1.) จ่ายเบี้ยระยะสั้น เช่น จ่ายเบี้ยแค่ 1-3 ปี เพื่อไม่ต้องเป็นภาระในระยะยาว ตัวแทนบางคนมักจะแนะนำลูกค้าว่าถ้าคิดจะทำงาน 10 ปีหรือ 15 ปี ก็ทำแบบจ่ายเบี้ยระยะยาวไปเลย แต่ในความเป็นจริงแม้คุณวางแผนจะทำงาน 10 ปี แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผน เช่น ถูกเลิกจ้าง หรือมีโอกาสดี ๆ ในการทำธุรกิจ ประกันชีวิตก็อาจไม่มีความจำเป็นแล้วในตอนนั้น ประกันชีวิตระยะยาวจะกลายเป็นภาระให้คุณต้องจ่ายเบี้ยทุกปี ซึ่งหากทำประกันระยะสั้น แม้จะจ่ายเบี้ยครบ เช่น จ่ายครบ 3 ปี หากยังทำงานอยู่คุณสามารถทำกรมธรรม์ใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ ได้ ที่ตัวแทนแนะนำอย่างนั้นเพราะเขาอยากเหนื่อยทีเดียวแล้วไม่ต้องเจอกันเลย แต่หากคุณทำระยะสั้นและทำใหม่ทุก ๆ 2-3 ปี เขาต้องเหนื่อยมาหาคุณทุก ๆ 2-3 ปี ตัวแทนจึงไม่ค่อยเสนอแบบประกันดังกล่าวให้ลูกค้า

2.) พิจารณามูลค่าเวนคืนว่าแบบประกันไหนสามารถเวนคืนได้เร็วโดยที่ไม่กินเงินที่จ่ายไป ลองเปรียบเทียบแบบประกันทั้ง 2 แบบ สมมติเบี้ยประกันปีละ 100,000 เท่า ๆ กัน

ปีที่

เบี้ยประกัน

รวมเบี้ยที่จ่ายไปทั้งหมด

มูลค่าเวนคืนแบบที่ 1

มูลค่าเวนคืนแบบที่ 2

1

100,000

100,000

20,000

95,000

2

100,000

200,000

50,000

198,000

3

100,000

300,000

120,000

310,000

4

100,000

400,000

250,000

420,000

5

320,000

6

400,000

จากตารางดังกล่าว แบบประกันแบบที่ 2 เหมาะกับการทำเพื่อลดหย่อนภาษีมากกว่า เพราะสามารถเวนคืนได้ในปีที่ 3 โดยไม่ขาดทุน เรื่องมูลค่าเวนคืนนี้ในใบเสนอขายประกันส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงให้เห็นเพราะมันจะเป็นจุดบอดของแบบประกัน เพราะหากแสดงให้เห็นแล้วคนถามว่ามูลค่าเวนคืนคืออะไร แบบประกันจะขายไม่ได้ทันที แต่ถ้าแบบประกันดี ๆ จะยอมแสดงข้อมูลส่วนนี้ในใบเสนอขาย

อย่างไรก็ดีในการพิจารณาซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี อยากให้พิจารณาเรื่องความคุ้มค่าด้วย เช่น ถ้าประกันสามารถเวนคืนได้ในปีที่ 4 โดยไม่ขาดทุน แต่หากคุณเสียภาษีในอัตรา 10% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอยู่ที่ 3.5% นั่นคือหากคุณยอมจ่ายภาษี 10% และเอาเงินนั้นมาฝากประจำ คุณจะได้ดอกเบี้ยคืนมา 14% แทนที่จะนำเงินไปฝากประจำเพื่อลดหย่อนภาษีแค่ 10% แต่หากคุณต้องเสียภาษีในอัตรา 20-30% ก็อาจคุ้มค่าหากเลือกที่จะลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต

 

มีเทคนิคเพิ่มเติมในการซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี นั่นคือเวลาซื้อประกันชีวิตให้ซื้อในช่วงรอยต่อของปี เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี เพราะประกันชีวิตคุณสามารถจ่ายหลังจากวันครบกำหนดได้ไม่เกิน 60 วัน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน บางบริษัทกำหนดที่ 30 วัน) เช่น ถ้าคุณซื้อประกันในเดือน ม.ค. โดยจ่ายเบี้ย 70,000 บาท เดือน ธ.ค. คุณจะได้รับใบเรียกเก็บเบี้ยประกัน คุณสามารถเลือกที่จะจ่ายเบี้ย 30,000 บาทในเดือน ธ.ค. และจ่ายเบี้ยอีก 40,000 บาทที่เหลือในเดือน ม.ค. (รวมจ่าย 70,000 บาทพอดี ซึ่งไม่ผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์) นั่นคือแม้กรมธรรม์คุณจ่ายเบี้ยปีละ 70,000 แต่ในปีแรกนี้คุณได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีถึง 100,000 บาท เพราะคุณไปเอาสิทธิ์ปีหน้ามาใช้

แม้คุณจะทำงานกินเงินเดือน อาจมีรายได้แน่นอนในแต่ละปี แต่บางปีอาจมีเหตุที่ไม่ต้องใช้กรมธรรม์ในการลดหย่อนภาษี เช่น

– มีโปรโมชั่นพิเศษเรื่องการลดหย่อนภาษีจากรัฐบาล เช่นในปี 2552 ใครที่ซื้อบ้านในปีนั้นสามารถใช้เงินต้นมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 300,000 บาท แลกหากคุณซื้อบ้านในปีนั้นคุณคำนวณแล้วไม่ต้องใช้ประกันมาลดหย่อนภาษี คุณสามารถใช้เทคนิคนี้ในการโอนสิทธิ์การลดหย่อนภาษี ด้วยการแทนที่จะจ่ายเบี้ยประกันในเดือน ธ.ค. ก็สามารถเลื่อนไปจ่ายในเดือน ม.ค.ได้ หรือแทนที่จะจ่ายเต็มก็จ่ายเท่าที่ต้องการจ่ายก็ได้ ส่วนที่เหลือไปจ่ายในปีถัดไป

– ถ้าคุณมีการกู้เงินซื้อบ้าน ธนาคารอาจเสนอให้ทำประกันเงินกู้ เบี้ยประกันที่จ่ายในส่วนนี้คุณสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะซ้ำซ้อนกับกรมธรรม์ที่มีอยู่ ดังนั้นคุณสามารถที่จะโอนสิทธิ์การลดหย่อนนี้ไปในปีถัดไปด้วยการชำระล่าช้าเพื่อให้ข้ามปีภาษี คือแทนที่จะจ่ายเดือน ธ.ค.ก็ไปจ่ายเดือน ม.ค. แทน ทำให้ไม่ต้องเสียสิทธิ์การลดหย่อนไปอย่างน่าเสียดาย

ในปัจจุบันประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 300,000 บาท แต่ก่อนจะทำประกันอยากให้พิจารณาให้ดีว่าคุ้มค่าหรือเปล่าระหว่างภาษีที่ประหยัดได้กับเงินที่จ่ายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสดี ๆ ในการนำเงินนี้ไปก่อให้เกิดประโยชน์ สำคัญที่สุดคือแบบประกันดี ๆ ก็มีขายอยู่ แต่ส่วนใหญ่ตัวแทนจะได้ค่าคอมน้อยจึงไม่ค่อยจะเสนอลูกค้าเท่าไหร่ ชอบที่จะเสนอแบบประกันที่ไม่ดี จ่ายเบี้ยแพง ๆ มูลค่าเวนคืนต่ำ ๆ เพื่อบังคับให้ถือประกันนาน ๆ ดังนั้นก่อนซื้อประกันชีวิตก็ควรศึกษาให้ละเอียดด้วยตัวเองจะดีที่สุด

Leave a Reply