เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเผชิญหน้าสรรพากร (2)
จากที่เคยเขียนเกี่ยวกับเทคนิคในการเผชิญหน้าสรรพากรไปก่อนหน้านี้ จาประสบการณ์ที่ได้ให้ความช่วยเหลือกับผู้เดือดร้อนหลายท่านที่ได้ติดต่อเข้ามา หลายครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าไปเผชิญหน้ากับสรรพากรให้กับผู้เสียหายเหล่านั้น แต่ละครั้งที่เข้าไปก็จะได้เทคนิคใหม่ ๆ กลับมาทุกครั้ง จึงขอรวบรวมเทคนิคเหล่านี้เล่าเป็นเทคนิคใหม่ ๆ เผื่อจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับสรรพากรอาจจะเอาไปใช้ได้
การนัด
ในกรณีที่คุณได้รับหมายนัดจากสรรพากร เช่น บอกให้ไปพบในวันพฤหัสบดี เวลา 10:00 น. ระลึกไว้เสมอว่าอย่ายอมรับเวลาที่สรรพากรเป็นคนระบุเด็ดขาด เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่เขาจะได้เตรียมเอกสารให้พร้อม และเขาพร้อมเต็มที่ที่จะเชือดเหยื่ออย่างคุณ ให้ระลึกเสมอว่าเวลานัดคุณต้องเป็นคนเลือก อย่าให้ฝ่ายตรงข้ามเลือก และเมื่อฝ่ายตรงข้ามเปิดเผยมาแล้วว่าวันไหนสะดวกสำหรับเขา ให้คุณอย่าเลือกวันและเวลาดังกล่าวเด็ดขาด เช่น ถ้าเขานัดวันพฤหัสบดี 10:00 น. คุณอาจจะเปลี่ยนเป็นวันศุกร์ 15:00 น. เป็นต้น
ขั้นตอนต่อมาเมื่อคุณต้องการเปลี่ยนเวลาเข้าพบจะทำอย่างไร เมื่อคุณเลิกวัน-เวลาเรียบร้อยแล้ว และเมื่อต้องการเปลี่ยนเวลานัด ให้เปลี่ยนด้วยวิธีการที่ไม่ให้สรรพากรปฏิเสธได้ อย่าโทรไปเปลี่ยนเวลาเด็ดขาด เพราะจะเจอการต่องรองว่าวันไหนสะดวก ให้สำเนาหมายนัดนั้นขึ้นมา เขียนลงไปว่าขอนัดเวลา… และส่ง EMS พร้อมไปรษณีย์ตอบรับไป ซึ่งวิธีนี้เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถต่อรองกับคุณได้เลยว่าว่าง-ไม่ว่าง เพราะเมื่อรับจดหมายแล้วนั่นคือเวลานัดและเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม
บางคนอาจจะกังวลว่าถ้าไม่มีการนัดดี ๆ คุณอาจจะไม่เจอเจ้าหน้าที่ในวันนั้น เป็นเรื่องปรกติครับที่คุณจะต้องเผชิญสถานการณ์แบบนี้ว่าไปถึงแล้วเจ้าตัวไม่อยู่ แต่ในความเป็นจริงต่อให้นัดดิบดีบางทีเจ้าหน้าที่ยังหนีหน้าเลย แต่ในทางปฏิบัติแล้วหากเป็นเวลาราชการเมื่อคุณไปถึงสำนักงานสรรพากร แม้เจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องจะไม่อยู่ อย่างไรก็ดีจะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถปฏิบัติงานแทนได้ นี่คือหลักการพื้นฐานเบื้องต้น ถ้าหน่วยงานบอกว่าเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องไม่อยู่ให้มาวันหลัง แบบนี้ด่าได้เลยว่าหน่วยงานนี้ปฏิบัติงานแย่ทั้งหน่วย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อยู่คนเดียวทำงานกันไม่ได้ ให้คุณถ่ายคลิปหลักฐานความไร้ประสิทธิภาพนี้ไว้ประจานได้เลย
แต่หากมีเจ้าหน้าที่คนอื่นมาคุยกับคุณแทน รับเรื่องแทน แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่คนนี้ไม่มีข้อมูลพอที่จะรีดภาษีคุณแน่ ให้คุณถ่ายคลิปการสนทนาไว้เป็นหลักฐาน พร้อมกับระบุว่าประเด็นทั้งหมดมีแค่นี้ ถ้าจะให้มาอีกครั้งไม่เอา ประเด็นอื่น ๆ ถ้ามีให้จบวันนี้ เพราะหากเจ้าหน้าที่ตัวจริงที่มีข้อมูลพร้อมจะรีดภาษีคุณมา คุณจะได้บอกว่าวันนั้นได้คุยกับคุณ… ซึ่งรับเรื่องแทนและสรุปว่าไม่มีประเด็นอื่นแล้ว จบแล้ว มีอะไรให้ไปถามกันเอง
เรื่องการถ่ายคลิปการสนทนามักจะมีคำถามอยู่เสมอว่าเราสามารถทำได้หรือไม่ ให้คุณอ้างนโยบาย “ศูนย์ราชการใสสะอาด” มีข้อหนึ่งระบุว่า “โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบ” ดังนั้นเมื่อการปฏิบัติราชการต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสทำไมจะบันทึกคลิปการสนทนาไม่ได้ ในการบันทึกคลิปเมื่อคุณหยิบกล้องขึ้นมาให้ทำการบันทึกและบอกไปเลยว่าเราจะบันทึกการสนทนา บอกนะครับไม่ใช่ขอและไม่จำเป็นต้องแอบถ่าย ให้บอกกันตรง ๆ เลย และหากเขาไม่สะดวกจะต้องเป็นหน้าที่เขาขอให้เราอย่าบันทึก แทนที่เราจะมาบอกว่าขอบันทึกคลิปเขาจะให้หรือเปล่า เราลองเปลี่ยนมุมมองว่า เมื่อผู้เสียภาษีบันทึกคลิปการสนทนาทางสรรพากรจะขอเราอย่างไรว่าอย่าบันทึกเลย แค่เราเปลี่ยนมุมมองเกมนี้ก็เป็นของเราแล้วครับ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือถ้าเราเป็นผู้เลือกวัน-เวลาในการเจรจาแล้ว เราควรจะเลือกอย่างไร มีเทคนิคแนะนำให้ดังนี้ครับ
- หากมีช่วงฟันหลอของวันหยุดยาว ให้เลือกวันนั้น เช่น ถ้าวันศุกร์เป็นวันหยุด และวันอังคารในสัปดาห์ต่อไปเป็นวันหยุด นั่นคือถ้าลางานวันจันทร์ด้วยก็จะได้หยุดยาว 5 วัน ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงมากที่เจ้าหน้าที่จะลางานในวันจันทร์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจมากหากเจ้าหน้าที่ได้รับหมายนัดในวันจันทร์ และหากเจ้าตัวไม่อยู่ต้องมีคนอื่นรับเรื่องแทนก็จะเข้าแผนเรา แต่หากไม่มีใครรับเรื่องแทนได้ให้ถ่ายคลิปประจานความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานนั้นได้เลย เพราะวันจันทร์ไม่ใช่วันหยุดราชการแต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ทำงาน
- ถ้ามีวันหยุดยาวให้นัดช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันก่อนหยุดยาวนั้น เช่น ถ้าวัน พฤหัส-ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ ให้นัดวันพุธบ่ายแก่ ๆ เช่น พุธ 15:00 และเวลาไปพบก็ไม่ต้องรักษาเวลา เช่นอาจจะไปถึงสัก 15:30 หรือ 16:00 เพื่อให้สรรพากรมีเวลารีดคุณน้อยลง
- หากไม่สามารถหาช่วงวันหยุดยาวได้ ก็ให้นัดวันศุกร์บ่ายแก่ ๆ เช่น 15:00 จริง ๆ แล้วหลังบ่ายสามเจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากทำงานกันแล้ว แต่การนัดผ่านจดหมายนี้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ได้ก็อาจจะทำงานแบบขอไปที เมื่อคุณไปถึงสัก 15:30 หรือ 16:00 เจ้าหน้าที่รีบกลับบ้านก็อาจจะไม่อยากเสียเวลากับคุณมาก จะไม่รับนัดก็ไม่ได้เพราะคุณนัดในเวลาราชการถ้าไม่ทำงานก็เท่ากับหนีงานเจ้าหน้าที่ก็มีความผิดอีก แบบนี้ทุกอย่างก็ราบรื่น
เรื่องการนัดเวลาเข้าพบสรรพากรอาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่ต้องสนใจ แต่หากเรารู้จักใช้ศิลปะนี้ในการดำเนินการให้ฝ่ายเราได้เปรียบในการเจรจา เรื่องเล็กน้อยอย่างนี้จะมีผลมากในการเจรจา อีกอย่างหากมีผู้ได้อ่านศิลปะนี้และนำไปใช้พร้อมกัน นั่นคือหากทุกคนพร้อมใจกันนัดเข้าพบสรรพากรในวันศุกร์บ่าย เจ้าหน้าที่จะต้องเสียเวลาทั้งบ่ายกับหลาย ๆ คน ผลก็คือเจ้าหน้าที่จะรีดภาษีใครไม่ได้เลย ก็จะสรุปว่าปลอดภัยหมด
เทคนิคการเจรจา คิดนอกกรอบ คุยนอกเรื่อง
เรื่องเทคนิคการเจรจานี้ในแต่ละกรณีหรือแต่ละปัญหาก็จะมีเทคนิคที่แตกต่างกันไป หากจะให้ระบุให้เฉพาะเจาะจงว่าจะทำอย่างไรก็คงต้องวิเคราะห์กันไปในแต่ละกรณี เพราะในแต่ละกรณีรายละเอียดก็ไม่เหมือนกัน นอกจากข้อผิดพลาดที่ผมเคยเขียนไว้ในหัวข้อ “ข้อผิดพลาดเมื่อเผชิญหน้ากับสรรพากร” แล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่เราเจรจาอยู่ในกรอบกติกาที่สรรพากรวางไว้ เพราะกรอบกติกานั้นสรรพากรเป็นผู้กำหนดสรรพากรย่อมได้เปรียบในการเจรจานั้น แต่หากเราเจรจานอกกรอบ จริง ๆ แล้วก็เหมือนกับผู้เล่นที่ผิดกติกา แต่ในฐานะเกมการต่อสู้ในชีวิตจริงแล้วแล้ว เราไม่จำเป็นจะต้องตามกติกาที่คู่ต่อสู้วางไว้ แต่เราสามารถเล่นนอกกรอบกติกาได้อย่างไม่มีปัญหาและไม่ผิดกฎหมายด้วย
ตัวอย่างเช่นกรณีศึกษา “ถูกสรรพากรหลอก” ซึ่งผู้เสียหายถูกหลอกให้เพิกเฉยต่อเอกสารต่าง ๆ ของสรรพากร ทำให้ต้องถูกสรรพากรประเมินฝ่ายเดียวโดยที่ไม่มีโอกาสโต้แย้งใด ๆ หากจะมองในแง่กฎหมายภาษีอากร ผู้เสียหายทำผิดเต็ม ๆ แต่หากมองในแง่การทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ไปแนะนำอย่างนั้น เราจะได้ประเด็นใหม่คือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องร้องเรียนประเด็นเหล่านี้ไปยังหน่วยงานอื่น เช่น ปปช. สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือแม้แต่ศาลปกครอง เป็นต้น
อีกกรณีหนึ่งที่มักจะมีปัญหาบ่อย ๆ คือเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เคยมีผู้เสียหายคนหนึ่งโทรมาปรึกษาปัญหากับผม คือทำงานรับเหมาและรับเงินมาทุกเดือน โดยทุกเดือนจะหัก 3% และผู้ว่าจ้างก็เป็นบริษัทใหญ่ซึ่งก็เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว มีปีหนึ่งมีรายได้สูงเกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายแล้วต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เนื่องจากผู้เสียหายไม่รู้กฎหมายจึงมิได้ทำการจดทำเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้อง เวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี สรรพากรเรียกพบและสั่งให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง พร้อมกับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของรายได้ในส่วนนี้พร้อมค่าปรับ ซึ่งต้องจ่ายประมาณเกือบ ๆ ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้หากจะมองเฉพาะกฎหมายภาษีอากรแล้วต้องบอกได้เลยว่าผู้เสียหายไม่มีทางออกและต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่เจ้าหน้าที่สรรพากรสั่งมา แต่หากเรามองในแง่ของการปฏิบัติงานจริงซึ่งรายได้นี้มีการทยอยรับทุก ๆ เดือนและภาษีหัก ณ.ที่จ่ายก็มีการนำส่งสรรพากรทุกเดือน ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วสรรพากรควรจะเห็นปัญหาตั้งแต่เดือน มิ.ย. และรีบแจ้งให้เราทราบ ซึ่งหากเรารู้ตั้งแต่ตอนนั้นก็จะดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เรียบร้อย และมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างก็ไม่เดือดร้อนเพราะสามารถเคลมเงินภาษีมูลค่าเพิ่มนี้คืนได้อยู่แล้ว แต่เมื่อสรรพากรเพิกเฉยมานานปล่อยให้ปัญหาทับถมจนเกิดความเสียหายกับเราขนาดนี้ ก็ต้องถือว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เข้าข่ายอาญามาตรา 157 ซึ่งมีโทษถึงจำคุก
จากทั้งสองกรณีดังกล่าว จะเห็นว่าหากเราเจรจาเฉพาะในกรอบของปัญหาภาษีอากรแล้ว เราไม่มีทางสู้เลย แต่หากมองนอกกรอบ เช่น ปัญหาการทุจริต ปัญหาการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน คุณจะเจอทางออกของปัญหาและจะพบประเด็นที่สามารถต่อรองกลับได้ อย่างไรก็ดีเรื่องพวกนี้คงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและไหวพริบในระดับหนึ่งในการวิเคราะห์ปัญหาและพยายามหาช่องโหว่เพื่อต่อรองเจ้าหน้าที่กลับ ซึ่งอาจจะต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร การเจรจาแต่เฉพาะในกรอบของกฎหมายภาษีอากรนั้นจะทำให้เราเป็นฝ่ายตั้งรับ คือเจ้าหน้าที่จะหาความผิดของเราและทยอยจับผิด แต่หากเรารู้จักมองนอกกรอบหาความผิดของเจ้าหน้าที่บ้าง จะทำให้เราสามารถรุกกลับได้ เหมือนการแก้ปัญหาแบบเชิงรุกนั่นเอง
หลายครั้งที่ผมมีโอกาสโต้เถียงกับนักภาษีอากร สำหรับตัวผมแล้วไม่ใช่นักบัญชี ไม่ใช่นักกฎหมาย จึงมักจะถูกตำหนิว่าผมชอบพูดนอกประเด็น เหมือนให้เถียงแต่เฉพาะในประเด็นที่เขาเข้าใจ แต่ในชีวิตความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่สรรพากรแล้ว การเล่นนอกกรอบกติกาที่เจ้าหน้าที่วางไว้จะทำให้เราสามารถหาทางออกของปัญหารวมทั้งโจมตีกลับในประเด็นที่เจ้าหน้าที่คิดไม่ถึงเหมือนกัน เพราะกฎหมายสรรพากรถูกเขียนโดยเจ้าหน้าที่สรรพากร ดังนั้นเจ้าหน้าที่ย่อมมีความรู้ในกฎหมายของตัวเองอย่างดี เมื่อเราต้องสู้กับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงอย่าอยู่ในกรอบที่เจ้าหน้าที่วางไว้แต่ให้เจรจานอกกรอบจึงจะมีโอกาสชนะได้
อย่ายอมรับความผิดเด็ดขาดแม้ความเสียหายจะเล็กน้อย
ความผิดพลาดอีกอย่างสำหรับผู้เสียภาษีคือเมื่อเจรจากับสรรพากรหลายครั้งอาจจบลงด้วยการที่สรรพากรบอกว่าให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจะได้จบเรื่อง หลายคนขี้เกียจมีปัญหาเห็นว่าเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยก็จบก็เลยยอม ทั้งที่บางครั้งข้อกล่าวหาที่ได้รับนั้นไม่เป็นความจริงเลย แต่ยอมจ่ายเพิ่มเล็กน้อยเพื่อให้จบ ๆ เรื่อง
จริง ๆ แล้วความคิดนี้ผิดอย่างมาก ในเมื่อเราไม่ผิดก็คือไม่ผิดครับ ยืนกรานในความบริสุทธิ์ของตัวเองให้เต็มที่ เพราะการรับผิดแค่เพียงนิดเดียวบางครั้งอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่าไม่น่าเชื่อ
ตัวอย่างเช่น ถ้ารายได้คุณ 1.75 ล้าน และหากในการเจรจากับสรรพากร เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่าขอประเมินเพิ่มอีก 1 แสนบาท เสียภาษีเพิ่มอีกสามพันบาท ซึ่งจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่มนั้นอาจเล็กน้อยหากเทียบกับรายได้ของคุณ คุณอาจคิดว่ายอม ๆ ไปก็ได้จะได้จบเรื่องก็เลยเซ็นยอมรับการประเมินของเจ้าหน้าที่และจ่ายภาษีเพิ่มอีกสามพันบาท
แต่หลังจากนั้นอาจมีผลกระทบอื่นตามมา เพราะเมื่อคุณยอมรับรายได้เพิ่มอีกหนึ่งแสนบาทนั้นคือรายได้ของคุณจะกลายเป็น 1.85 ล้านบาท นั่นคือคุณจะต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและผลเสียต่าง ๆ จะตามมาอีก และหากการกล่าวหานั้นเป็นการประเมินภาษีย้อนหลัง สมมติว่าสัก 2 ปี นั่นคือรายได้หลังจากนั้นคุณจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังพร้อมค่าปรับอีก 2 เท่า งานนี้ใครก็ช่วยไม่ได้แล้วครับ
Recent Posts
Pages
- User Privacy
- VAT ปัญหากวนใจของ Freelance
- กรณีศึกษา
- การขายสินค้าออนไลน์
- การวางแผนภาษี
- การวางแผนภาษีของแพทย์
- การวางแผนภาษีสำหรับคนทำงานกินเงินเดือน
- การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- การวางแผนรับมือสรรพากรสำหรับธุรกิจออนไลน์
- การแก้ปัญหาภาษีอาการแบบเชิงรุก
- ข้อผิดพลาดเมื่อเผชิญหน้ากับสรรพากร
- ขาย RMF ก่อนอายุ 55 ต้องทำอย่างไร
- ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับสรรพากร
- คำนำจากผู้เขียน
- ติดต่อ
- ถูกสรรพากรหลอก
- ธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นต์ บ้านเช่า
- ผ่อนบ้านให้คุ้มเรื่องภาษี
- ภาษีย้อนหลัง
- ภูมิคุ้มกันสรรพากร
- ภูมิคุ้มกันแต่ละสาขาอาชีพ
- มนุษย์เงินเดือนก็ต้องวางแผนภาษี
- รู้ทันสรรพากร
- วัตถุประสงค์ของเว็บไซต์
- ส่งท้าย
- ส่งมอบรายการเดินบัญชีไปแล้วจะทำอย่างไร
- สมัครสมาชิก
- สรรพากรข่มขู่ผู้เสียภาษีอย่างไร
- สำนักงานบัญชี
- สู้กับสรรพากร อยู่ที่ใจ
- หน้าหลัก
- หาบเร่ แผงลอย ร้านค้าริมทาง
- อย่าแก้ปัญหาด้วยวิธีการผิด ๆ
- เทคนิคการปฏิเสธเมื่อสรรพากรขอดูการเดินบัญชี
- เทคนิคการลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต
- เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเผชิญหน้าสรรพากร (2)
- เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเผชิญหน้าสรรพากร
- เมื่อสรรพากรขอเสตทเม้นต์
- เมื่อสรรพากรมาเยือน จะรับมืออย่างไร
- ใช้งานสรรพากรกลับ